ผลวิจัยญี่ปุ่นชี้ "โอมิครอน (https://www.americavoted.com/seegene-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94/)" แพร่เชื้อเร็วกว่าเดลตา 4.2 เท่า ซ้ำหลบภูมิคุ้มกันทั้งที่สร้างขึ้นตามธรรมชาติและผ่านทางวัคซีนได้มากกว่า
ดร.ฮิโรชิ นิชิอุระ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่นเปิดเผยผลการวิจัยพบว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่เชื้อในระยะแรกได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 4.2 เท่า ซึ่งการค้นพบนี้มีแนวโน้มที่จะยืนยันความวิตกเกี่ยวกับการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดร.นิชิอุระ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของโรคติดเชื้อรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นนั้น ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมหรือจีโนมของไวรัสโอมิครอนที่มีจนถึงวันที่ 26 พ.ย.ที่จังหวัดกัวเต็งในแอฟริกาใต้
"เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนแพร่เชื้อได้มากกว่า และสามารถหลบหนีจากภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นตามธรรมชาติและผ่านทางวัคซีนได้มากกว่า" ดร.นิชิอุระระบุในผลการวิจัย ซึ่งนำเสนอในที่ประชุมของคณะที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเมื่อวันพุธ (8 ธ.ค.)
ทั้งนี้ ผลการวิจัยของดร.นิชิอุระยังไม่ได้รับการทบทวนและตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ โดยการวิเคราะห์ใหม่ดังกล่าวดำเนินการโดยใช้วิธีการเดียวกับที่เขาใช้ในการวิจัยในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาซึ่งตีพิมพ์โดยวารสารทางการแพทย์ Eurosurveillance เกี่ยวกับการคาดการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว
ทั่วโลกต่างกังวลว่าไวรัสโอมิครอนอาจส่งผลกระทบต่อโลกมากกว่าสายพันธุ์เดลตา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนว่า ไวรัสโอมิครอนอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา
อย่างไรก็ตาม ยอดติดเชื้อที่พุ่งขึ้นในแอฟริกาใต้หลังพบไวรัสโอมิครอนนั้นยังไม่ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนล้นโรงพยาบาล ซึ่งทำให้มีความเชื่อมั่นบางส่วนว่า โอมิครอนอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่รุนแรง
ด้านไฟเซอร์และไบออนเทคเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์ของบริษัทอาจป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้