• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

รัฐขยายเวลาล็อกดาวน์ โบรกฯ มองฉุดเป้าจีดีพี-กำไร บจ.

Started by Chigaru, August 05, 2021, 06:48:02 PM

Previous topic - Next topic

Chigaru



โบรกเกอร์ประสานเสียงขยายล็อกดาวน์ เสี่ยงจีดีพี กำไร บจ.ลด ASPS ประเมินกระทบ GDP ไตรมาส 3 เดือนละ 3 แสนล้านบาท ฉุดจีดีพีทั้งปีโตไม่ถึง 1% คาดอีกหลายค่ายหั่นเป้า GDP ส่วนทรีนีตี้คาดอาจนำมาสู่ Downside risk ของ GDP รวมถึงประมาณการกำไรของ บจ. ขณะตลาดหุ้นเดือนสิงหาคมมีโอกาสย่อตัว ด้านยูโอบีฯ ประเมินธีมลงทุนระยะสั้นหุ้นกลุ่มสื่อสาร - REITs เป็นแหล่งพักเงินที่ดี ส่วนโนมูระ มองกดดันหุ้น Domestic - Re-Opening แนะตั้งรับ และวิจัยกรุงศรีประเมิน ศก.อ่อนแอ คาด GDP ปีนี้ขยายตัว 1.2%

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดยั้งการระบาดได้และตัวเลขผู้ติดเชื้อยังขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สุดท้ายรัฐได้ประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 29 จังหวัด และนั่นเท่ากับเป็นการแสดงถึงความล้มเหลวที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ แม้ก่อนหน้านั้นได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว 14 วัน ใน 13 จังหวัดก็ไม่เป็นผล กระทั่งในเดือนสิงหาคมรัฐประกาศการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ทรุดหนักและสาหัสเพิ่มมากขึ้น ทำให้แทบทุกภาคส่วนมิอาจขยับขยายธุรกิจ ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจไม่เดินหน้า ทำให้ทั้งระบบย่ำแย่ บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายแห่งรับผลกระทบเต็มๆ เมื่อระบบเศรษฐกิจไม่เดินหน้า ทุกอย่างย่อมติดลบ ตัวเลขจีดีพีที่ก่อนหน้านั้นมีแนวโน้มจะดีขึ้น แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า ย่อมให้ความไม่นิ่งในการประเมินตัวเลขจีดีพีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่ต้องสงสัย

ASPS ประเมินจีดีพีโตไม่ถึง 1% หลายค่ายเตรียมหั่นเป้า

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASPS) เปิดเผยว่า การล็อกดาวน์ต่อถึงสิ้นเดือน ส.ค. เพิ่ม Downside ปรับลด GDP Growth ไทยปี 64 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยตัวเลขล่าสุด ประกาศออกมาเพิ่มขึ้นอยู่บริเวณ 1.8 หมื่นราย ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับการเข้มงวดกิจกรรมเศรษฐกิจ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

โดย ASPS ประเมินเป็นการเปิด Downside เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 คาดหดตัวมากกว่า โดยหอการค้า คาดผลกระทบต่อ GDP ค่าเฉลี่ยราว 3 แสนล้านบาทต่อเดือน หรือ 2.75%ต่อ GDP (จากเดิมคาด 2.75 แสนล้านบาท) x ประเมินว่าค่อนข้างแน่ชัดปีนี้ GDP ไทยอาจจะโตไม่ถึง 1% เทียบปีก่อน และจะเห็นการทยอยปรับลด GDP Growth ลงเพิ่มขึ้นอีกจากหลายสำนักเศรษฐกิจ

ขณะที่อีกฝั่งคาดจะกดดันตลาดหุ้นไทยและหุ้นเปิดเมืองในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าราคาหุ้นได้ปรับฐานลงไปก่อนหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม เคยนำเสนอว่าตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อ (New case) ที่เพิ่มสูงกว่าจำนวนผู้รักษาหาย (Recovered case) โดยเชื่อว่าสัญญาณซื้อ (Buy Signal) สำคัญของตลาดหุ้นจะมาจากช่วงจังหวะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่ำกว่าผู้รักษาหาย (กราฟ New case ตัด Recovered case ลด) ส่งผลให้ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยต้องรอ Buy Signal ต่อไป

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยเผชิญโควิด-19 ระลอกแรกหุ้นตกหนักมากถึง -38% ตามมาด้วยระลอก 2 และ 3 ปรับตัวลงเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ราว -7% และ 5% ตามลำดับ จากนั้นค่อยๆ ฟื้นกลับมาด้วยความคาดหวังการกระจายวัคซีน และมาตรการภาครัฐน่าจะยับยั้งโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟาได้เหมือนกับระลอกแรก ขณะที่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเผชิญกับโควิด-19 ระลอกที่ 4 สายพันธุ์เดลตา (แพร่ระบาดเร็ว) โดยปรับฐานลงมาแล้วมากกว่า 7% ถือว่าลดลงมากสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 4 รอบที่ผ่านมา และยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อจากมาตการที่คุมเข้ม หรือล็อกดาวน์ที่ขยายวงกว้างขึ้นเป็น 29 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม หลังการล็อกดาวน์ต้องรอติดตามดูว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อทยอยลดลง จนต่ำกว่าผู้ที่รักษาหายจะเป็นจุดที่เข้าสะสมหรือเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นไทยโดยคาดหวังการฟื้นตัวตามความสัมพันธ์ของตลาดหุ้นและตัวเลขผู้ติดเชื้อในอินเดีย

ทรีนีตี้มองสู่ Downsid ของ GDP-กำไร บจ.

บทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ปัจจัยเชิงลบล่าสุดที่เกิดขึ้น และมีผลทำให้สมมติฐานก่อนหน้านี้เปลี่ยนแปลงไปก็คือการที่ ทาง ศบค.ได้มีมติให้ขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ออกไปถึงวันที่ 18 ส.ค.เป็นอย่างน้อย แถมยังมีการเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มจากเดิม 13 จังหวัดขึ้น ถึงเท่าตัวเป็น 29 จังหวัด ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ระดับการเคลื่อนย้ายของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้ และอาจนำมาสู่ Downside risk ของ GDP รวมถึงประมาณการกำไรของ บจ.ได้

ทั้งนี้ แม้อาจมี Sentiment เชิงบวกเล็กๆ จากการผ่อนคลายให้ร้านอาหารในห้างสามารถเปิดจำหน่ายเพื่อบริการ Delivery แต่เหตุการณ์ล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ Sentiment การลงทุนในระยะสั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของสภาพคล่องที่เริ่มหดหายไปจากตลาด สะท้อนผ่านการมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไปที่ลดลง และระดับปริมาณเงินในประเทศหรือ M2 ที่ขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2008

บล.ทรีนีตี้ ประเมินภาพตลาดหุ้นไทยเดือนสิงหาคมมีโอกาสย่อตัวลงก่อนในช่วงต้นเดือน เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการล็อกดาวน์ที่ยาวนานและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น นอกจากนั้น ปัจจัยต่างประเทศที่อาจเข้ามากดดันตลาดในช่วงต้นเดือนอีกก็คือ ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่เริ่มแผ่วลง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งเดือนหลังคาดอาจมี Sentiment เชิงบวกขึ้นมาบ้าง หากในที่ ประชุมผู้นำธนาคารกลางโลกที่เมือง Jackson Hole ไม่ได้มีการส่งสัญญาณเข้มงวดนโยบายการเงินใดๆ ออกมา โดยเฉพาะจากทางฝั่งของ Fed

สำหรับในเชิงกลยุทธ์ สำหรับพอร์ตที่ทยอยสะสมหุ้นมาก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนีต่ำกว่า 1,550 จุดลงมา มองว่าสามารถถือครองหุ้นไว้ก่อนได้ ส่วนการเข้าสะสมครั้งใหม่อาจรอจังหวะการย่อตัวแถวบริเวณแนวรับประจำเดือนนี้ที่ให้ไว้ที่ 1,480-1,500 จุด น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากเป็นระดับที่ Valuation อยู่ต่ำแล้ว โดยซื้อขายเพียงแค่ Forward PE 15.5 เท่าเท่านั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 17.2 เท่าอยู่พอสมควร

ยูโอบีฯ แนะลงทุนระยะสั้น สื่อสาร-REITs

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บล.ยูโอบีเคย์เฮียน เปิดเผยว่า การประกาศขยายเวลาและพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดอีก 14 วัน (ตั้งแต่ 3 ส.ค.และอาจถึงสิ้น ส.ค.) ของ ศบค. และเพิ่มพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด (สีแดง) ขึ้นเป็น 29 จังหวัด (จากเดิม 13 จังหวัด) ขณะที่มาตรการควบคุมส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ยกเว้นมีการผ่อนคลายให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดดำเนินการได้เพื่อให้บริการแบบจัดส่งเท่านั้น

โดยมองว่าภาพรวมประกาศสอดคล้องกับที่เคยประเมินรัฐจะขยายเวลาล็อกดาวน์ ซึ่งน่าจะ 1-2 เดือน (หรือน่าจะมีการต่อมาตรการล็อกดาวน์ทุก 14 วันออกไปเรื่อยๆ) เนื่องจาก ประการแรก อ้างอิงผลการศึกษาจากกองระบาดวิทยาที่เสนอการล็อกดาวน์ 1-2 เดือน ควบคู่กับการฉีดวัคซีน และประการที่สองคือข้อจำกัดของวัคซีนที่มีคุณภาพสูง (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของวัคซีนที่ไม่สามารถหยุดการระบาดได้)

สุดท้ายคือ ความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เพิ่มจนใกล้ถึงระดับการผลิตที่เป็นข้อจำกัดขององค์การเภสัชในช่วงสัปดาห์นี้ถึงสัปดาห์หน้า จะทำให้รัฐต้องคงมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อกดการเพิ่มของผู้ป่วย และชะลอการเสียชีวิตที่มีโอกาสจะเร่งตัวขึ้น

ดังนั้น ธีมการลงทุนระยะสั้น กลุ่มสื่อสารและ REITs ยังเป็นแหล่งพักเงินที่ดีในช่วงที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงการปรับประมาณการผลประกอบการที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง มองทยอยสะสม ADVANC, DTAC, FTREIT, WHART เก็งกำไรแบบกำหนดจุดตัดขาดทุน JAS, ALT

ทั้งนี้ แนะให้ทยอยสะสมสาธารณูปโภค RATCH, EASTW, WHAUP, TTW กลุ่มอาหารและเกษตร TVO, TU, CPF, GFPT, TWPC เก็งกำไร กลุ่มเดินเรือ PSL, TTA, RCL เก็งกำไรกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ SMD, TM, WINMED, BIZ เก็งกำไรกลุ่มบรรจุภัณฑ์ SCGP, BGC

ระวังหุ้นการผลิต กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เสี่ยง  
นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มความระวังหุ้นการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สถานการณ์ระบาดที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นทำให้ต้องระวังว่านอกจากจะกระทบต่อการบริโภคเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์แล้ว การระบาดอาจจะกระทบต่อการขนส่งและโลจิสติกส์ ขณะที่ภาคการผลิตอาจจำเป็นต้องปิดโรงงานหรือส่วนของการผลิตหากพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะกระทบต่อผลประกอบการไตรมาส 3/64 อย่างมีนัยสำคัญได้

ถึงแม้มีมุมมองบวกต่อผลประกอบการของหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยความเสี่ยงที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 และ Valuation ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี ทำให้แนะนำนักลงทุนหาจังหวะแบ่งทำกำไรหรือเพิ่มความระวังในการลงทุน

โนมูระ มองกดดันหุ้น Domestic - Re-Opening

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุ การปรับเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด และให้ขยายมาตรการล็อกดาวน์ต่อไปอีก 14 วัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป เป็นแรงกดดันต่อกลุ่ม Domestic และ Re-Opening อย่างต่อเนื่อง ส่วนการผ่อนคลายมาตรการให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดจำหน่ายเฉพาะ Delivery โดยให้เปิดได้ไม่เกิน 20.00 น.นั้น มองไม่ได้บวกต่อกลุ่มร้านอาหารอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การเพิ่มจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด ทำให้จำนวนสาขาที่ห้ามรับประทานที่ร้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้โดยรวมเป็นลบต่อกลุ่มร้านอาหาร

ทั้งนี้ กลยุทธ์ลงทุนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังสูง ขณะที่ ศบค.ขยายล็อกดาวน์ต่ออีก 1 เดือน กดดันกลุ่ม Domestic และ Re-Opening ต่อเนื่อง กลยุทธ์แนะตั้งรับ Selective เน้นกลุ่ม Earnings ดี โดยปัจจุบันกลุ่มโรงพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (BDMS, BCH, CHG, EKH, SMD, WINMED) และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากพลังงานน้ำ (GPSC, BCPG, CKP) เด่น ผสานกลุ่มส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า (ชิ้นส่วน-อาหาร KCE HANA TU PM ASIAN) กลุ่มสื่อสาร (ADVANC) และหุ้นที่มีปันผลระหว่างกาล (TVO) คงน้ำหนักหุ้นที่ 50%

วิจัยกรุงศรีประเมิน ศก.อ่อนแอ คาด GDP ปีนี้ขยายตัว 1.2%

วิจัยกรุงศรีรายงานว่า อุปสงค์ในประเทศเดือนมิถุนายนยังคงซบเซา แต่เศรษฐกิจยังพอได้แรงหนุนจากการส่งออก ส่วนภาคการผลิตไตรมาส 3 อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการระบาด ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนมิถุนายนแม้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนบ้างเล็กน้อย แต่โดยรวมยังอ่อนแอ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน (+0.2%) โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางการส่งออก ขณะการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ส่วนภาคท่องเที่ยวยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเล็กน้อย จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกที่เติบโตในอัตราสูง คือ 46.1% เทียบจากปีก่อน ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้การส่งออกเติบโตกระจายตัวทั้งในตลาดและหมวดสินค้า ช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้บ้างในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ

ทั้งนื้ เศรษฐกิจไตรมาส 2 อ่อนแอลงจากไตรมาสแรก ผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ โควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ในไตรมาส 2 อาจหดตัวจากไตรมาสแรกที่ -0.6% QoQ sa แต่หากเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนอาจขยายตัวได้ 7% ซึ่งเป็นผลของฐานที่ติดลบหนักเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจยังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา ผลจากมาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดขึ้น ทำให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักมากขึ้น อีกทั้งการระบาดที่เริ่มแผ่ลามถึงภาคการผลิตและอาจกระทบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ เศรษฐกิจในไตรมาส 3 จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้และอาจจะติดลบมากกว่าไตรมาส 2

ขณะคลังประเมินเศรษฐกิจปีนี้เติบโต 1.3% และจะขยายตัวเร่งขึ้น 4-5% ในปี 2565 ด้านวิจัยกรุงศรีชี้ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เหลือขยายตัว 1.3% จากเดิมคาด 2.3% ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาไทยลดลงจากเดิม อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก

ด้านวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ GDP ปีนี้จะขยายตัว 1.2% (เดิมคาด 2.0%) ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด และจากแบบจำลองชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงต่ำกว่า 1,000 ราย ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนมาตรการควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจึงยังคงซบเซา ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดมีเพียง 2.1 แสนคน (เดิมคาด 3.3 แสนคน) นอกจากนี้ อานิสงส์จากการกลับมาเปิดดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ หนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยปีนี้เติบเติบโต 15% แม้ช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกอาจชะลอลงบ้าง

โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นช่วงปลายไตรมาส 4 ปีนี้ ตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้นและการฉีดวัคซีนจำนวนมาก กอปรกับการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากการจัดหาและการกระจายวัคซีนของไทย รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามในระยะข้างหน้า