• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

‘Learning City’ สร้างบ้าน Plan เมือง จุดประกาย ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’

Started by Prichas, August 19, 2021, 04:54:04 PM

Previous topic - Next topic

Prichas



กระแสการพัฒนาเมืองในวิถีใหม่ กำลังเป็นอีกโจทย์ท้าทายที่ถูกพูดถึงในเวลานี้ แต่ในขณะที่ทุกคนต่างมุ่งเป้าไปที่ "สมาร์ทซิตี้" หรือเมืองอัจฉริยะ ว่าจะเป็นคำตอบของการพัฒนาเมืองที่ตอบโจทย์โลกในศตวรรษใหม่

อีกฟากมุมมองจากนักพัฒนา กลับเริ่มที่จะหันมาให้ความสำคัญถึงกระแสการพัฒนา "เมืองแห่งการเรียนรู้" หรือ "Learning City"มากขึ้นเช่นกัน นั่นเพราะทุกคนต่างหมายมั่นว่า Learning City อาจเป็นภาพฝันของเมืองคุณภาพในอนาคตที่แท้จริง

จาก Lifelong Learning สู่ Learning City

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) เล่าถึงเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องขับเคลื่อน "เมืองแห่งการเรียนรู้" ผ่านการนำเสนอสาธารณะ ภายใต้ประเด็น "ฟื้นเมืองบนฐานความรู้" (Knowledge-based City Development) ซึ่งจัดโดย UddC ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทป่าสาละ The Urbanis และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การนำเสนอผลการศึกษาโครงการเมืองกับบทบาทและศักยภาพของประเทศไทย ตลอดจนการร่วมมองหาทิศทาง "เมืองแห่งการเรียนรู้" ในไทย ว่าจะมีความเป็นไปได้เพียงใด

ผศ.ดร.นิรมลเอ่ยว่า เพราะปัจจุบันเรากำลังอยู่ในมรสุมของความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ ที่กำลังสร้างความท้าทายใหม่ๆ และเริ่มทำให้ทุกคนตระหนักมากขึ้นว่า การเรียนรู้เฉพาะการศึกษาในระบบอาจไม่เพียงพออีกต่อไป


ดังนั้น แต่ละชุมชนจำเป็นต้องมี "พื้นที่" สำหรับการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนที่สามารถทำให้ "ทุกคน" ในสังคมได้มีโอกาสเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะของความเป็นพลเมืองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

"คำว่าสมาร์ทซิตี้อาจไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเทคโนโลยีที่มาทำให้เราสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองแบบไหนที่จะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ของคนในเมืองด้วย"

ดังนั้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้คนเรียนรู้ได้เอง เราต้องสร้างนิเวศน์ จัดการให้เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

 

สำหรับกระแส Learning City เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากองค์การยูเนสโกเล็งเห็นว่า หากโลกจะเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal:SDGs) จำเป็นต้องสร้างสังคม "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" ให้เกิดขึ้น

"เมือง" หรือชุมชน จึงเป็นผู้รับบทบาทโดยตรงในการทำหน้าที่นิเวศน์ของการเรียนรู้ ในทุกที่ทุกเวลา 

ซึ่ง ผศ.ดร.นิรมล ยังยกตัวอย่างของเมืองแห่งการเรียนรู้หลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปและเอเชียโดยเฉพาะ "ญี่ปุ่น" สามารถยกระดับสังคมเรียนรู้ กลายเป็นฐานขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืนให้แก่ชุมชนจริงมาแล้ว

"เมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และยังมีการส่งต่อข้อมูลหรือความรู้ในท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ในญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งมาตั้งแต่สมัยเอโดะ คนญี่ปุ่นอ่านตลอดเวลาเพราะหนังสือมีราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้ และยังมีวัฒนธรรมการจดบันทึกที่ยาวนาน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังใช้สถานศึกษาเป็นพื้นที่แกนกลางในการจัดทำเมืองการเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ กลั่นความรู้มาสร้างอาชีพสร้างเศรษฐกิจ สร้างภูมิปัญญาในชุมชน"

ตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งที่เกิดจากการพัฒนาดังกล่าว คือการต่อยอดแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ที่เรียกว่าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล ซึ่งประเทศไทยเราได้นำเอาแบบอย่างมาใช้นั่นเอง

สำหรับลักษณะของเมืองแห่งการเรียนรู้ ผศ.ดร.นิรมล ได้สรุปว่าควรมีคุณสมบัติ 5 ประการ ได้แก่

1. การมีวัฒนธรรมการเรียนรู้และการอ่านที่เข้มแข็ง

2. การเป็นเมืองมีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการตนเอง

3. การมีโครงสร้างการปกครองที่มีการกระจายอำนาจให้เมือง

4. การมีชุมชนและภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง

5.การมีลักษณะความเป็นเมืองสอดคล้องกับความเป็นมนุษย์หรือ Human scale/walkable

Learning City แค่ผังเมืองไม่พอ?

เมืองแห่งการเรียนรู้แบบไหนที่เราควรสนับสนุนให้เกิดในประเทศไทยบ้าง?

จากการศึกษาการจัดการผังเมืองของ UddC พบว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นการจัดการเมืองในเชิงพื้นที่ เป็นหลัก เช่นการจัดวางผังโรงเรียนให้สามารถเดินเข้าถึงได้ การพัฒนาสถานศึกษาให้เกิดความสมดุล เป็นต้น โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา ซึ่งฟังดูก็น่าจะเป็นการจัดการที่เหมาะสม ทว่าปัจจุบันเพียงแค่มี "การศึกษา" ทั่วถึงอาจไม่เพียงพอ

"โลกกำลังต้องการคนที่มีทักษะความสามารถมากกว่าที่ระบบการศึกษาผลิตออกมา นั่นคือคนที่สามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา และมีความยืดหยุ่นเป็นต้น เหล่านี้คือทักษะอันพึงประสงค์ที่โลกศตวรรษใหม่ต้องการ ความรู้ที่ใช้ในปัจจุบันแตกต่างกับความรู้ในอดีตที่ผ่านมา พลเมืองยุคใหม่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เราจึงต้องสร้างสังคมที่ส่งเสริมเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาและสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงโลกแบบDigitalization" ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

"หากถามว่าเมืองแบบไหนที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ ถ้าเรานำกรอบ Learning City ของยูเนสโกมาเป็นแนวทางการพัฒนาเมือง จะพบว่าทิศทางการพัฒนาเมืองวิถีใหม่นี้จะขยับห่างออกจากการพัฒนาเชิงกายภาพทันที"

เพราะการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่การพัฒนาเฉพาะทางกายภาพ  ดังนั้นนอกจากศาสตร์การวางผังเมือง จำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลากหลายในการจัดการชุมชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพ "คน" ที่อยู่ในเมืองนั้น ให้เป็นพลเมืองตื่นการเรียนรู้ไปด้วย

"การลงทุนเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่การลงทุนการศึกษาในระบบหรือสถานศึกษาเท่านั้น เราสามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ หรือปรับปรุง Learning Facility ให้เชื่อมโยงกับในระบบการศึกษาเดิมได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เสมอไป" ผศ.ดร.นิรมลให้ข้อมูล

ฟื้นกรุงเทพฯ-ปากน้ำโพ บนฐานการเรียนรู้

แต่ก่อนที่ประเทศไทยจะตั้งเป้าหมายเดินหน้าขับเคลื่อนไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ การบ้านข้อแรกที่เราอาจต้องทำความเข้าใจคือ การเสาะหาโอกาสและข้อจำกัดของตนเอง ว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้เกิดช่องว่าง และการพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนโอกาส อุปสรรค

ที่สำคัญการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาปิดช่องโหว่ได้จริงหรือไม่

ซึ่งทาง UddC เองได้มีการลงพื้นที่ศึกษาเมืองต้นแบบ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตัวแทนเมืองศูนย์กลางที่พร้อมที่สุดในประเทศ แต่แม้จะดูมีความพร้อมในฐานะเมืองหลวง กลับพบว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีระดับความหลากหลายของของ "ย่าน" หรือชุมชนที่ซับซ้อนและยังมีโครงสร้างทางกายภาพที่ไม่เอื้อต่อการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งยังขาดความเชื่อมโยงในหลายมิติ

คณะทำงานได้ทำการเลือกพื้นที่ย่านปทุมวัน บางรัก และธนบุรี เนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมที่สุดด้วยมีแหล่งชุมชนและสถานศึกษา เพราะมีทั้งระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย

ส่วนเมืองต้นแบบแห่งที่สอง คือเมืองปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นเมืองรองที่ผลิตคน มีฐานการศึกษาระดับมัธยมที่เข้มแข็ง สามารถป้อนคนเข้าสู่ตลาดงานระดับประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ในการพัฒนาท้องถิ่น กลับเป็นเมืองที่มีการเติบโตแบบถดถอย

บทสรุปที่ได้จากการวิจัยนี้ คือย้ำให้เห็นว่า "การเรียนรู้" กับ "การศึกษา" นั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีการส่งเสริม เชื่อมโยงกันและกันไปในตัว

"เราพบว่าอุปสรรคสำคัญคือ ประเทศไทยมีลักษณะของเมืองที่เป็นแบบแยกส่วน แต่รวมศูนย์ ที่สำคัญข้อมูลก็ถูกรวมศูนย์ไปอยู่กับส่วนกลาง อาจทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่นำไปสู่องค์ความรู้เกิดขึ้นได้ยากจึงควรมีการถ่ายเทอำนาจการจัดการจากภาคนโยบายมาสู่ท้องถิ่น รวมถึงคืนข้อมูลสู่ชุมชน"

นอกจากนี้ การบริหารภายใต้ระบบราชการไทย ยังมีลักษณะการทำงานเป็นแบบ Project Based คือ การทำงานแยกส่วน หรือแยกกันทำตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน แต่ขาดการเชื่อมโยงกัน ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถตอบสนองแนวทางเมืองบนฐานแห่งความรู้ได้

ปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นแม้กระทั่งโครงการพัฒนา ผศ.ดร.นิรมล ยอมรับว่า แม้แต่โครงการอาร์ตอินซอยที่ทาง UddC ดำเนินการเอง ถึงจะประสบความสำเร็จในแง่เป้าหมายโครงการ แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในด้านการช่วยส่งเสริมพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ได้

ดังนั้น ในข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองบนฐานความรู้ ผศ.ดร.นิรมล เอ่ยว่า ควรประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์

"หนึ่งคือการสร้างเครือข่ายของเครือข่ายและกรอบการพัฒนาสู่เมืองฐานความรู้ สอง ควรมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้ย่านในทุกมิติ และสาม คือการผลักดันให้เกิดการสร้างพลเมือง/อาสาสมัครย่านด้านความรู้และข้อมูลในเมือง"

ผศ. คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงกรณีศึกษาของเมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์ว่า จากการลงพื้นที่พบปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ประเด็น ได้แก่การยึดติดอยู่กับเมืองการศึกษา การต้องการการนำเข้าความรู้เพื่อการพัฒนาอีกมาก การมีต้นทุนความรู้ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ การเชื่อมโยงความรู้ที่จนมีกับการพัฒนาที่ควรจะเป็น ยังไม่ลงตัว และการกระจายความรู้ที่เป็นประโยชน์สีด้านยังไม่ถึงคนทุกกลุ่ม

ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปากน้ำโพเผชิญ อาจคือภาพสะท้อนความเป็นเมืองทั่วประเทศไทย ที่ถูกพัฒนาภายใต้ความเคยชิน ในการเดินตามสิ่งที่รัฐ หรือภาคนโยบายเป็นผู้เลือกหรือนำเสนอให้มาโดยตลอดไมนด์เซ็ตใหม่จึงควรพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม

"อาจเพราะที่ผ่านมาการศึกษาในระบบมุ่งเน้นให้คนเป็นลูกจ้างในตลาดแรงงานใหญ่ทั้งระบบ แต่เมืองท้องถิ่นแบบปากน้ำโพเองกลับขาดการจ้างงานที่ใช้ทักษะสูง ทำให้ไม่มีแรงขับเคลื่อนในการที่จะพัฒนาความรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ และเริ่มละทิ้งงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทางหรือทักษะเฉพาะพื้นที่ ปากน้ำโพจึงขาดบรรยากาศสาธารณะที่การเรียนรู้ที่กระจายตัวอย่างทั่วถึง"ผศ. คมกริช เอ่ย

อีกสิ่งที่ ผศ.คมกริชมองว่า อันตรายที่สุดของการพัฒนาเมืองปากน้ำโพ คือภาวะ "ความเป็นพลเมืองหดลง"

"การที่คนอยู่ไม่รู้สึกถึงความเป็นพลเมืองและมีชีวิตอยู่เพียงแค่รักษาตึกแถวแล้วหน้าบ้านเอาไว้เพื่อตนเองก็พอ เป็นสิ่งที่น่ากังวล ดังนั้น หากนครสวรรค์จะเปลี่ยนเมืองฐานการศึกษาให้เป็นเมืองฐานความรู้ควรเริ่มด้วยกันรับฟังและต่อยอดความรู้ภายในและภายนอกอย่างเป็นระบบและเข้าถึงได้" ซึ่งผศ.คมกริชเสนอแนะว่า ควรใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง 3 ยุทธศาสตร์ ตามที่ผศ.ดร.นิรมล เอ่ยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเมืองด้วย

เป็นเมืองเรียนรู้ ต้องมีข้อมูลให้รู้

"เรามักมีมายาคติว่าเมืองเราไม่มีข้อมูล แต่ผมเชื่อว่าทุกเมืองมีข้อมูล แต่อาจจะเป็นในรูปแบบของเศษกระดาษ เอกสาร องค์ความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ หรือแม้แต่ความทรงจำ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ มันไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอน หรือถ่ายทอดข้อมูลในสังคมเมือง" อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฝ่าย Urban Intelligence เอ่ย

โดยกล่าวว่าปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "ระบบผูกขาดข้อมูล" กับ "การโจรกรรมข้อมูลเมือง" คือการที่ข้อมูลถูกไม่นำมาคืนกลับสู่ท้องถิ่นหรือชุมชน

อดิศักดิ์ กล่าวว่าข้อมูลประกอบด้วยข้อมูลพื้นที่โครงสร้างเมือง ข้อมูลคน/พลเมือง และข้อมูลพฤติกรรมปฏิสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลอะไรก็ได้ แม้แต่ข้อมูลสุขภาพ

 "อาจเริ่มมีการพูดถึงดาต้าเซ็นเตอร์ในภาครัฐมากขึ้น แต่หากไม่มีนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดการแลกเปลี่ยน จึงอาจไม่ใช่คำตอบในการสร้างฐานข้อมูลเมือง ข้อมูลท้องถิ่น เมืองควรเป็นผู้จัดเก็บและนำมาใช้งานได้เองในท้องถิ่น เพื่อที่จะสามารถเอาข้อมูลนั้นมาสร้างให้เกิดประโยชน์หรือเกิดนวัตกรรม ต่อยอดการพัฒนาต่าง ๆ เพราะหากเราปราศจากข้อมูลก็ยากที่จะมีความรู้ และหากปราศจากความรู้และข้อมูลก็ยากที่จะขับเคลื่อนเมืองการเรียนรู้ได้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรและจัดวางกลไกต่างๆ ภายในชุมชนเมือง ไม่ใช่แค่ระบบท็อปดาวอย่างเดียว"

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลุ่ม .ter Bangkok ให้อีกมุมมองว่าในการสร้างสังคมของการเรียนรู้ หรือเมืองบนฐานความรู้ต้องมีแรงจูงใจ (incentive) ของการเรียนรู้

"ผมว่าหัวใจแห่งการเรียนรู้ คือการสร้าง Incentive ให้เขาเห็นว่า หากเขาได้เรียนรู้แล้วจะได้อะไร มันส่งผลดีกับชีวิต หรือทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร"

ซึ่งปัจจัยที่จะสร้างแรงจูงใจของการเรียนรู้ รศ. ดร.ชัชชาติ มองว่าต้องเริ่มด้วย Passion, Self interest และ Public interest

"ที่ผ่านมาการเรียนรู้ไม่เกิดเนื่องจากระบบอุปถัมภ์ การผูกขาดผลประโยชน์ให้กับรายใหญ่ ทำให้คนตัวเล็กเข้าไม่ถึงทรัพยากร จนมองว่าไม่มีประโยชน์ในการจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งเห็นด้วยว่าภาพประชาสังคมและภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชน" รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าว


อีกโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองด้วยฐานความรู้ นั่นคือ การที่พลเมืองสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและความรู้ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมการตระหนักรู้ ตลอดจนมีความตื่นตัวในการดูแลสุขภาวะของตนเองได้ ในเรื่องนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงเหตุผลที่ สสส. สนับสนุนกระบวนการศึกษาและกระบวนการมีส่วนร่วมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสุขภาวะ ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อรองรับความเป็นเมือง (Urbanization) ว่า เป็นการสร้างต้นแบบพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งผลจากการสนับสนุนดังกล่าว ยังนำไปสู่การเกิดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ สำหรับการผลักดันนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) และแนวคิดการพัฒนาบนฐานความรู้ (knowledge based development) ผ่านการออกแบบกิจกรรมสร้างเมืองผ่านการร่วมเรียนรู้ ฟื้นกรุงเทพฯ บนฐานความรู้" และ ฟื้นนครสวรรค์บนฐานความรู้" มองว่าจะช่วยตอบโจทย์ในการเพิ่มปัจจัยแวดล้อม/พื้นที่สุขภาวะ (Built Environment/Healthy Space) ทั้งยังเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เอกชน รวมไปถึงสถานที่ทางธรรมชาติ ภายใต้การออกแบบ หรือการจัดการเพื่อพัฒนาให้เป็นปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกายและสุขภาวะอย่างเท่าเทียม