• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

จับตา 7 วันอันตราย 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' เร่งกดตัวเลขผู้ติดเชื้อ

Started by Shopd2, July 28, 2021, 10:12:35 PM

Previous topic - Next topic

Shopd2





สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดภูเก็ต รอบ 1 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 20-26 ก.ค. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมีจำนวน 126 คน มาจากในประเทศ 118 คน และคัดกรองพบจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" อีก 8 คน สร้างความกังวลว่า "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" จะยังดำเนินการต่อได้หรือไม่ เพราะผู้ติดเชื้อเกินเงื่อนไข 90 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ของแผนเผชิญเหตุที่จะต้องนำมาพิจารณาในการเดินหน้า ทบทวน ชะลอ หรือยุติโครงการ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้หารือร่วมกับ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 26 ก.ค. เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย หลังมีข้อกังวลเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นสูง โดยได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์อื่นๆ ประกอบ ยืนยันว่ายังรับมือและควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่มีนัยยะต่อการทบทวนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในตอนนี้ จึงได้ข้อสรุปว่าเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง

แม้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ระหว่างวันที่ 21-27 ก.ค. จำนวน 145 คน จะเกิน 90 รายต่อสัปดาห์ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจนำไปสู่การทบทวนยุติโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หลังเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา 

"แต่เมื่อดูยอดผู้ติดเชื้อสุทธิหลังมีการรักษาหายแล้ว พบว่าเหลือเพียง 60 กว่าคน ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และเอกชนท่องเที่ยวได้พิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ รอบด้าน ต่างยืนยันว่ายังรับมือไหว"


"พิพัฒน์"สั่งกดยอดผู้ติดเชื้อ 7 วัน
ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สั่งให้จับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 7 วันจากนี้ เพื่อหาวิธีกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อในภูเก็ตยังเพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลง จนกระทบต่อระบบสาธารณสุข ไม่สามารถรับมือไหว ททท.จะมีการดำเนินงานในขั้นต่อไป

ด้านจังหวัดภูเก็ตได้มีการปรับมาตรการตามแผนจากเบาไปหาหนัก ขณะนี้เริ่มปรับลดกิจกรรม ได้แก่ ปิดศูนย์การค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต และ เซ็นทรัล ฟลอเรสตา ภูเก็ต 7 วัน ตั้งแต่ 27 ก.ค.-2 ส.ค. รวมทั้ง ปิดสนามกีฬาฟุตบอล ฟุตซอล ตั้งแต่ 27 ก.ค.-2 ส.ค.เช่นกัน ปิดโรงเรียนจนถึงวันที่ 16 ส.ค และให้รวมกลุ่มทำกิจกรรมได้ไม่เกิน 100 คน ขณะที่ตลาดนัด ตลาดสด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ 4 ตารางเมตรต่อ 1 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.

"เอกชนในภูเก็ตได้หารือถึงการยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีการเสนอให้ปิดเกาะภูเก็ตเพื่อไม่ให้คนในพื้นที่อื่นเดินทางเข้า ทางปฏิบัติคงทำได้ยาก เพราะคนภูเก็ตที่ไปทำงานข้ามจังหวัด หรือมีลูกหลานในจังหวัดอื่นๆ ต้องการเดินทางกลับภูเก็ต จะปิดกั้นไม่ให้กลับคงทำได้ยาก แต่มีวิธีคุมเข้มและรัดกุมมากขึ้น"

ล่าสุด กำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากทุกจังหวัด รวมถึงผู้ที่อยู่ในภูเก็ตแต่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ต้องแสดงหลักฐานผลการฉีดวัคซีนครบโดส และมีผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test เป็นลบ ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง ตั้งแต่ 25 ก.ค.-2 ส.ค.นี้

รักษาป้อมปราการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
นายยุทธศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ททท.ไม่มีความคิดที่จะยกเลิกโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และไม่มีอำนาจในการสั่งยกเลิก เพราะขึ้นอยู่กับทางจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้ตัดสินใจ โดยการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ขณะนี้ ถือเป็นการทดลองระบบ รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น่าจะเดินทางเข้ามามากขึ้นในไตรมาส 4

ในเดือน ส.ค. นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สามารถต่อเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ โดยจะมีเครื่องบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สและไทยสมายล์ที่รับส่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ 

"ททท.ต้องพยายามรักษาป้อมปราการของภูเก็ตเอาไว้ให้ได้ เพราะ 15 เดือนที่เผชิญวิกฤติโควิด คนภูเก็ตที่เคยอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จึงถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้ธุรกิจเริ่มเดินได้ พนักงานภาคท่องเที่ยวมีรายได้จุนเจือครอบครัว การทำภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จึงไม่ใช่การเปิดๆ ปิดๆ ระหว่างทางทำอะไรได้ก็ทำต่อ หากเปิดแล้วยังวิ่งไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ เดินไปอย่างมั่นใจ"

ประเด็นที่ ททท.พยายามสื่อสารไปยังตลาดต่างประเทศ คือ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมองจำนวนผู้ติดเชื้อในภูเก็ตแยกออกจากภาพรวมของยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดในไทยซึ่งมีจำนวนมาก เพราะอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ขณะเดียวกันต้องติดตามการตัดสินใจของสายการบินต่างๆ ที่ทำการบินเข้าภูเก็ตด้วยว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรืองดบินหรือไม่ จากรายงานเดือน ส.ค.พบว่ามีสายการบินทำการบินระหว่างประเทศเข้าภูเก็ตเพิ่มอีก 4 สายการบิน


จองโรงแรมภูเก็ตเฉียด2.8แสนคืน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-26 ก.ค. ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวสะสมรวม 11,806 คน คัดกรองพบผู้ติดเชื้อ 26 คน ส่วนใหญ่พบจากการตรวจหาเชื้อครั้งแรก 10 คน โดยหลายคนที่ตรวจพบว่าเป็นซากเชื้อ ส่วนการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 พบ 7 คน การตรวจหาเชื้อครั้งที่ 3 พบ 2 คน แสดงให้เห็นว่าเป็นการติดเชื้อมาก่อน ไม่ได้ติดจากคนในประเทศ ส่วนผู้สัมผัสและมีความเสี่ยงสูงตรวจพบเชื้อ 7 คน

ด้านยอดจองโรงแรมในภูเก็ตที่ได้มาตรฐาน SHA+ ไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 278,623 คืน เดือน ก.ค. 192,916 คืน ส.ค. 79,982 คืน และ ก.ย. 5,725 คืน เมื่อนับรวม ต.ค.2564-ก.พ.2565 ซึ่งตรงกับช่วงไฮซีซั่นอีก 5,250 คืน รวมมียอดจองโรงแรม 283,873 คืน

"ตัวเลขยอดการจองโรงแรมยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าการระบาดหนักของไทยส่งผลต่อยอดจอง ส.ค.-ก.ย.อยู่บ้าง แต่การระบาดช่วงนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะในไทย พบระบาดหนักทั้งภูมิภาค ต้องดูการตัดสินใจให้บริการของสายการบินหากยังบินเข้าภูเก็ต ยอดจองโรงแรมก็น่าจะเดินหน้าได้ตามเดิม"

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (27 ก.ค.) เห็นชอบตามที่คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ในส่วนมาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่องเพิ่มเติมนอกเหนือจาก ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โดยเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น หลังพำนักในภูเก็ต 7 วัน และเดินทางท่องเที่ยวและต้องพำนักในพื้นที่อื่นอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) เริ่มนวันที่ 1 สิงหาคม 2564

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ และ ททท. ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าพื้นที่ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันการนำเชื้อโควิด-19 เข้าไปแพร่ระบาดในพื้นที่

สั่งทำแผนยกระดับจุดคัดกรอง
รวมทั้งประสานกระทรวงมหาดไทยพิจารณานำแนวทางของ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" เผยแพร่ให้จังหวัดอื่นเพื่อเป็นกรณีศึกษานำไปวางแนวทางระยะต่อไป และประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจข้อมูลสถานการณ์แพร่ระบาดของไทยในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงความคืบหน้าและความสำเร็จของ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ให้สถานทูตประเทศต่างๆ และสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศรับทราบต่อเนื่อง

นอกจากนี้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งทำคำของบประมาณและแผนกำลังคนรองรับการยกระดับศักยภาพของจุดคัดกรองให้เพียงพอ ทั้งกระบวนการคัดกรองผู้เดินทางด้วยระบบดิจิทัล การจัดหา Rapid Antigen Test และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เสร็จใน 1 สัปดาห์ และประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ในรายละเอียดของแหล่งเงิน เพื่อเสนอ ครม. และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งขึ้นทะเบียนรับรองวัคซีน Sputnik V เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวเดินทางเข้ามาเที่ยวได้