• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

เปิดใจ 5 SMEs คู่ค้าเซเว่นฯกว่าหนึ่งทศวรรษ 

Started by Panitsupa, August 02, 2021, 08:12:02 PM

Previous topic - Next topic

Panitsupa



ด้วยสถานการณ์วิกฤตของประเทศไทย จากผลพ่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด และช่องทางการขายผ่านร้านสะดวกซื้ออย่าง เซ่เว่นอีเลฟเว่น ที่มีสาขาทั่วประเทศ กว่า 7,000 สาขา เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายหมายปอง อยากจะได้นำสินค้าเข้ามาวางขาย

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดกว้าง ต้อนรับผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเอสเอ็มอี ทำให้การนำสินค้าเข้ามาวางขายในร้านสะดวกซื้อชื่อดัง มันอาจจะไม่ใช่เรื่องยากยุคนี้ แต่ความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรรักษายอดขาย และรักษาพื้นที่วางขายให้อยู่ได้นานๆเป็นเรื่องที่ยากกว่า วันนี้ ทางบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ นำเรื่องราวและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนแนวคิดของ 5 SMEs ไทยที่ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างยอดขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าทศวรรษ มาร่วมแบ่งปันเคล็ดลับให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้ต่อยอดธุรกิจสู่ความสำเร็จ


ขนมตาล EZY SWEET ยกระดับขนมไทยด้วยเทคโนโลยี

นับเป็นอีกหนึ่ง SME ที่ต้องจับตามอง เพราะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการขนมไทยเพียงไม่กี่ราย ที่เป็นคู่ค้ากับ เซเว่น อีเลฟเว่น มานานเกือบ 10 ปี อย่าง บริษัท เจ เอช แอนด์ สโนว์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเติบโตจนเป็นที่รู้จักจากแบรนด์ "แม่สุนีย์ ขนมไทย" ปัจจุบันได้ผันตัวมาผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ EZY SWEET ให้กับ ซีพี ออลล์ เนื่องจากเชื่อมั่นในการเติบโตของตลาดขนมไทยรวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้อย่างรอบด้านโดยเฉพาะเทคโนโลยี และการตลาด

นายก้องปพัฒน์ เรืองจินดาชัยกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ เอช แอนด์ สโนว์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จากความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ แม่สุนีย์ ขนมไทย ทำให้บริษัทมีความคิดที่จะต่อยอดโอกาสไปสู่ขนมไทยประเภทอื่นๆ จึงได้ร่วมปรึกษากับซีพี ออลล์ ในการพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ซึ่งได้รับคำแนะนำให้ทดลองผลิตขนมตาล ภายใต้โจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ขนมตาลยังคงนุ่ม หอม น่ารับประทานเหมือนเพิ่งนึ่งมาใหม่ มีเนื้อสัมผัสและรสสัมผัสไม่เปลี่ยนแปลงแม้นำไปอุ่น โดยใช้เวลาในการคิดค้นประมาณ 1 ปี จนได้มาเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นเทคนิคเฉพาะของบริษัท สามารถผลิตได้ในปริมาณมากถึง 6,000 ชิ้นต่อวัน และมีอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ประมาณ 1 สัปดาห์



สร้างยอดขายในเซเว่น 65,000 ชิ้นต่อวัน

"การผลิตขนมไทยแบบเดิมๆ จะใช้ภูมิปัญญาที่ได้รับถ่ายทอดมา แต่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยยืดอายุขนมและรักษารสชาติให้คงเดิม สำหรับตัวขนมตาลถือเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะปัญหาคือเนื้อขนมจะแข็งหากทิ้งไว้นาน หรือแฉะเมื่อนำไปอุ่น ทำให้รสชาติเปลี่ยนได้ แต่จากการแนะนำด้านเทคโนโลยีของซีพี ออลล์ ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ บวกกับวัตถุดิบตาลพันธุ์ดีที่เรารับซื้อจากเกษตรกร จ.เพชรบุรี ทำให้เมื่อออกวางจำหน่ายจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดจำหน่ายสูงสุดถึงวันละประมาณ 10,000 ชิ้นต่อวัน จากยอดขายทั้งหมดของบริษัทในสินค้าทุกประเภทที่วางจำหน่ายในปัจจุบันร่วม 9 รายการ ทั้งในส่วนของแบรนด์แม่สุนีย์ ขนมไทย และ EZY SWEET ที่มียอดขาย 650,000 ชิ้นต่อวัน การที่ SME จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ของตนเอง แต่สิ่งที่จำเป็นคือพันธมิตรและคู่คิดที่ดี" ก้องปพัฒน์ กล่าว


20 ปี ขนมไทย "แม่ละมาย" ในเซเว่น
สร้างยอดขายกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

คงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์ "แม่ละมาย" เพราะมีสินค้าครอบคลุมทั้งเครื่องดื่มและขนมหวานวางจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่นนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นส่งในเซเว่น อีเลฟเว่นเพียงแค่ 20 สาขา กระทั่งปัจจุบันมีจำหน่ายมากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมีสินค้ามากกว่า 10 ตัว อาทิ วุ้นมะพร้าวผสมเม็ดแมงลัก,วุ้นมะพร้าวรวมมิตรในน้ำลำไย,วุ้นมะพร้าวรวมมิตรในน้ำแดง,ลูกตาลลอยแก้ว,วุ้นมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักในน้ำใบเตย,เครื่องดื่มเม็ดแมงลักผสมวุ้นมะพร้าวในน้ำแดง,น้ำขิงผสมวุ้นมะพร้าว,น้ำใบเตยผสมวุ้นมะพร้าว และยังมีสินค้าช่วงเทศกาล เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล, เต้าทึง ซึ่งได้สร้างยอดขายให้บริษัทมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี



ถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรกรเติบโตไปด้วยกัน 

นายวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ละมาย ผู้ผลิตขนมหวานตรา "แม่ละมาย" เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้แบรนด์ "แม่ละมาย" เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน คือ การได้แบ่งปันโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเหล่าซัพพลายเออร์ ด้วยการมอบความรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องการเพาะปลูก การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้คุณภาพของวัตถุดิบ ที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าคุณภาพส่งต่อให้กับผู้บริโภค ตลอดจนรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในรูปแบบประกันราคา ไม่ว่าจะเป็นวุ้นน้ำมะพร้าว,เม็ดแมงลัก,ลำไยอบแห้ง,ลูกตาล,สัปปะรด คิดเป็นปริมาณการใช้งานเฉลี่ยกว่า 1,000 ตันต่อปี และก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชนคิดเป็นจำนวนเงินราว 12-14 ล้านบาทต่อปี

"การที่ SME จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องรู้จักแบ่งปันโอกาสการเติบโตให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในส่วนของเรามองว่า เกษตรกร ถือเป็นซัพพลายเออร์หลักที่มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เราได้วัตถุดิบมีคุณภาพ เพื่อนำมาผลิตสินค้าให้กับผู้บริโภค วัตถุดิบที่ดีบวกกับการรักษามาตรฐานการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค นำมาซึ่งยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เราเรียกการเติบโตเช่นนี้ว่า การเติบโตแบบยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ" วีระ กล่าว

นอกจากการให้โอกาสแล้ว ในฐานะที่เป็น SME สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ การพัฒนาตัวเองและสินค้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทได้มีการนำ แห้ว ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของ จ.สุพรรณบุรี มาใช้เป็นส่วนประกอบในวุ้นมะพร้าวรวมมิตรในน้ำแดง และได้ทีม ซีพี ออลล์ มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการพัฒนาแพ็กเก็จจิ้ง ให้มีความสวยงามทันสมัย สะดวกต่อการบริโภค รวมถึงมาตรฐานการผลิต เนื่องจากมองว่ายิ่งเป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน ยิ่งต้องพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด



30 ปี เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม "ปุ้น&เปา"ในเซเว่น
ลดความผิดพลาด สร้างคุณภาพสม่ำเสมอ

นับเป็นเวลาร่วม 30 ปีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชลกิจปทานผล ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพและอยู่เคียงข้างเป็นบริษัทคู่ค้ากับเซเว่น อีเลฟเว่น มาโดยตลอด จนในวันนี้แบรนด์ "ปุ้น&เปา" ได้ถูกส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาช่วยสานต่อกิจการและยังคงเดินทางร่วมกับซีพี ออลล์ เพื่อทำภารกิจส่งมอบสินค้าคุณภาพ ในราคาที่เข้าถึงง่ายสู่มือผู้บริโภคทุกวัน



นำเครื่องจักรช่วยลดความผิดพลาดให้กิจการเล็กๆ 

ชลกุล ชลกิจปทานผล หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ชลกิจปทานผล เล่าย้อนความให้ฟังว่า เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม "ปุ้น&เปา" เป็นสินค้าตัวที่ 3 ที่บริษัทส่งขายให้กับเซเว่น อีเลฟเว่น จากเดิมเคยทำวุ้นกะทิและวุ้นน้ำมะพร้าวในน้ำเชื่อม แต่ด้วยความไม่แน่นอนในเรื่องของราคาวัตถุดิบหลักอย่างมะพร้าว จึงทำให้คุณพ่อมองหาสินค้าตัวใหม่ ซึ่งก็คือ "เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม" โดยใช้แบรนด์ "ปุ้น&เปา" ในรูปแบบพร้อมดื่มและแบบถ้วย นอกจากนี้ ยังเพิ่มรูปแบบการจำหน่ายสู่แบบถุงภายใต้แบรนด์ "บางช้าง" ในราคาเพียง 8-12 บาทเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี และสร้างยอดขายสูงสุด 100,000 ถ้วยต่อวัน

"แม้ว่าจะเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อจากคุณพ่อได้เพียง 3 ปี แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านมักสอนเสมอก็คือ เราจะต้องเป็น SME ที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้นิยามใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเอง SME (Small Micro Enterprises) นั่นคือพยายามทำให้องค์กรเล็กที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อจึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อลดความผิดพลาดในส่วนต่างๆ เพราะการเป็นคู่ค้ากับซีพี ออลล์ สิ่งสำคัญคือเราต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ ส่งผลให้วันนี้เราสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ถ้วยต่อวันในปี 2545 เป็น 120,000 ถ้วยต่อวัน ด้วยคนจำนวนเท่ากันคือ 15 คน" ชลกุล กล่าว


"วรพร" ผลไม้แปรรูป เลือกวัตถุดิบคุณภาพ
20 ปี ในเซเว่น ช่วยส่งต่อความยั่งยืนสู่ชุมชน

"วรพร" แบรนด์ผลไม้แปรรูปที่ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจผลไม้แปรรูปมานานกว่า 50 ปี อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าสำคัญของซีพี ออลล์มาถึงกว่า 20 ปี ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด ปัจจุบันถูกส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามาช่วยสานต่อกิจการ เพื่อทำภารกิจส่งมอบสินค้าคุณภาพ ในราคาที่เข้าถึงง่ายสู่มือผู้บริโภค

ชัยพร โสธรนพบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด เล่าย้อนความให้ฟังว่า แบรนด์"วรพร" ถือกำเนิดจากธุรกิจครอบครัวโดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ มะม่วงแช่อิ่ม กระทั่งเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับโอกาสจาก ซีพี ออลล์ ให้นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ เรียกว่าเป็นการพลิกโฉม มะม่วงแช่อิ่มแบบเดิมๆ ที่ดองใส่ขวดโหล สู่บรรจุภัณฑ์พร้อมรับประทานเจ้าแรกของประเทศ



3 ข้อหัวใจหลักทำให้ "วรพร" ประสบความสำเร็จ

สำหรับรสชาติและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในวันนี้ "วรพร" สามารถสร้างยอดขายจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้สูงถึงกว่า 130 ล้านบาทต่อปี โดยยอดขายกว่า 60-65% มาจากมะม่วงแช่อิ่มพร้อมทาน มะม่วงแช่อิ่มพร้อมพริกเกลือ มะขามแช่อิ่ม มะดันแช่อิ่ม มะปรางแช่อิ่ม มะม่วงกวน และมะม่วงกวนปรุงรส ที่จำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น

"ด้วยความที่สินค้าของเราเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค หัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืนจึงต้องมี 3 ข้อนี้คือ 1.ต้องสร้างมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐาน ต้องหมั่นทดสอบสินค้าอยู่เสมอว่ามีรสชาติคงเดิมหรือไม่ ถ้ารสชาติเปลี่ยนไปก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด มาจากขั้นตอนการผลิตหรือวัตถุดิบ เพื่อจะได้รีบดำเนินการแก้ไข 2.ใช้วัตถุดิบคุณภาพ เราเลือกใช้มะม่วงของ จ.ฉะเชิงเทรา แหล่งผลิตมะม่วงที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดยเรารับซื้อมะม่วงจากเกษตรกรประมาณ 5,000 ตันต่อปี และ 3.ส่งต่อความยั่งยืนสู่ชุมชน เรามองว่า เกษตรกร เป็นซัพพลายเออร์หลักที่มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เราได้วัตถุดิบมีคุณภาพ เพื่อนำมาผลิตสินค้าให้กับผู้บริโภค วัตถุดิบที่ดีบวกกับการรักษามาตรฐานการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค นำมาซึ่งยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เราเรียกการเติบโตเช่นนี้ว่า การเติบโตแบบยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ" ชัยพร กล่าว

จากร้านห้องแถว คุณเก๋ขนมหวาน
สู่รายได้ 140 ล้าน/ปี ในเซเว่น

จากห้องแถว 2 คูหา กำลังการผลิตเพียง 10,000 ถ้วยต่อวัน ในปี 2551 ยอดขายเพียงหลักล้านบาทต่อปี สู่โรงงานขนาดมาตรฐานที่มีกำลังการผลิต 60,000 ถ้วยต่อวัน กับยอดขายที่สูงถึงกว่า 140 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของ บริษัท คุณเก๋ขนมหวาน จำกัด ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี การจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น มนสวรรณ ศรัณย์เวชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คุณเก๋ขนมหวาน จำกัด กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้และปรับตัวรอบด้าน พร้อมกับเปิดกว้างด้านความคิด เนื่องจากเดิมบริษัทเป็นที่รู้จักในนามของ "คุณเก๋ขนมหวาน" แต่ปัจจุบันได้มีโอกาสก้าวมาพัฒนาสินค้าร่วมกับซีพี ออลล์ ภายใต้แบรนด์ EZY SWEET มีสินค้าส่งจำหน่ายให้กับเซเว่น อีเลฟเว่น รวม 10 ชนิด อาทิ สาคูเปียกข้าวโพด ทับทิมกรอบกะทิสด รวมมิตรกะทิสด ด้วยยอดผลิตสูงสุด 60,000 ถ้วยต่อวัน



องค์ความรู้ที่ดี ก้าวย่างสำคัญ SMEs เติบโตยั่งยืน

"SMEs ส่วนใหญ่คิดจะพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่เราอาจจะพลาดองค์ความรู้ดีๆ ที่จะได้รับจากพันธมิตร เช่น งานวิจัยการตลาด เทคโนโลยีด้านการผลิต การอบรมเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ซึ่งเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สินค้าของเราสามารถแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เรายังสามารถส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้รับกลับไปสู่ซัพพลายเชนของเราได้อีกด้วย อาทิ เรื่องของธรรมาภิบาล จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน แต่เราต้องสร้างการเติบโตให้กับชุมชน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม" มนสวรรณ กล่าว

การเติบโตที่แข็งแกร่ง เกิดจากการนำเอาประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของตนเอง โอกาสที่จะเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนย่อมไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม