• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

ทุ่มเทสุดกำลัง! ภารกิจพิชิตโควิด-19 เจ้าหน้าที่ กทม.

Started by Jessicas, August 31, 2021, 04:35:44 PM

Previous topic - Next topic

Jessicas



นับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอีกหนึ่งหน้าของกรุงเทพมหานครกับภารกิจสู้ภัยโควิด-19 ที่สะท้อนความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วนซึ่งล้วนทุ่มเทแรงกายแรงใจให้การช่วยเหลือและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อดูแลและรักษาประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างไม่ย่อท้อ และพร้อมจะสู้ต่อจนกว่าวิกฤติครั้งนี้จะสิ้นสุด

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินภารกิจหลากหลายด้านอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ผู้อำนวยการเขต รวมถึงข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมปฏิบัติภารกิจทุกภาคส่วนซึ่งได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทุกคนได้ทุ่มเทปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้อยู่ภายในวงจำกัดโดยเร็วที่สุด"



หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร  สายด่วน 1669   ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานจัดส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19  เพื่อเข้ารับการรักษา  โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ และสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานคือ เมื่อได้รับข้อมูลผลการติดเชื้อของผู้ป่วยและผู้ป่วยยังไม่ได้รับการจัดสรรเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา หน่วยงานและสถานพยาบาลจะประสานมายังกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และโรงพยาบาลสนามที่จัดตั้งขึ้น





นพ. พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้น ภารกิจของศูนย์เอราวัณ คือการคัดกรองผู้ป่วยโควิดกลุ่มต่าง ๆ โดยผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจะส่งไปยังศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต จำนวน 65 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2564)  ด้วยรถยนต์ของฝ่ายเทศกิจ  สำนักงานเขตต่าง ๆ   และอีกส่วนหนึ่งจะส่งไปยัง Hospitel  และโรงพยาบาลสนาม  ด้วยรถยนต์ของทหาร   แต่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง จะใช้รถพยาบาลของศูนย์เอราวัณ หรือรถเครือข่ายในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเลือกการกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) มากขึ้น ทำให้ช่วยลดภาระความจำเป็นของหน่วยงาน และเตียงโรงพยาบาลได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้มีเตียง และรถรับตัวผู้ป่วยของศูนย์เอราวัณเพียงพอที่จะนำไปบรรเทาภารกิจดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงได้มากขึ้นด้วย



"ขณะนี้ ศูนย์เอราวัณได้ปรับกระบวนการทำงานรับส่งเฉพาะผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ศูนย์เอราวัณจะเร่งประเมินอาการ รับตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง และป้องกันการติดเชื้อเพิ่มของคนในครอบครัว แม้ว่าในช่วงนี้ไม่ใช่เพียงสถานการณ์รอส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาให้ทันท่วงทีเท่านั้น แต่บางรายระหว่างการนำส่งตัว ศูนย์เอราวัณ ยังเผชิญสถานการณ์ที่เตียงปลายทางในโรงพยาบาลไม่ว่างกะทันหันจากผู้ป่วยรายอื่นที่โรงพยาบาลรับตัวไว้ ทำให้ศูนย์เอราวัณต้องให้ผู้ป่วยพักคอยอยู่ในรถ จนกว่าจะหาเตียงใหม่ทดแทนได้ และนำส่งได้อย่างปลอดภัย" ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ กล่าว



จากการให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ ระบุว่า ปัจจุบันสายด่วน 1669  มีโทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลืออยู่ที่กว่า 2,000 สายต่อวัน  ลดระดับลงมาจากก่อนหน้านี้ที่มีสูงถึงหลักหมื่น  เนื่องจากประชาชนเริ่มทราบหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยแต่ละระดับสี  และเข้าใจระบบมากขึ้น   แต่ทั้งนี้ก็ยังเผชิญปัญหาเรื่องเตียงเต็มในผู้ป่วยกลุ่มสีแดง  แม้ว่า
โรงพยาบาลตามสิทธิ หรือโรงพยาลที่ใกล้เคียงพื้นที่ผู้ป่วยอาศัยไม่มีเตียงว่าง ศูนย์ฯ ก็จะพยามอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการประสานกับทางโรงพยาบาลในสังกัด กทม. หรือประสานทีม Bed Management เพื่อส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที



ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ต้องรับสายโทรศัพท์จากทั้งผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับตัวเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม

นายนารอน แสนทวีผล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า เดิมที การแจ้งเหตุฉุกเฉิน จะมีจำนวนเคสประมาณ 1,700-1,800 คน ต่อวันภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดของระลอกเดือนเมษายนนั้น มีสายโทรศัพท์แจ้งเข้ามาขอความช่วยเหลือในระบบศูนย์เอราวัณ ประมาณ 2,000-2,700 คนต่อวัน



เมื่อดูสถิติรายเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันสูงถึง 70,000 คน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว  โดยในเดือนกรกฎาคม  การโทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลือสูงถึงกว่า 200,000 คน หากดูเฉลี่ยรายวันเดือนสิงหาคม แนวโน้มและทิศทางเริ่มดีขึ้น จากตัวเลขเดือนเมษายนมากกว่า 9,000 คนต่อวัน  แต่ขณะนี้ยอดผู้ป่วยที่โทรศัพท์เข้ามาอยู่ที่ 2,000 คนต่อวัน  (ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2564) ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของการแจ้งเหตุฉุกเฉิน หากนับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงเป็นตัวเลขที่คงเดิมอยู่ ในเดือนสิงหาคม จะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนราย แต่ภาพรวมรายวันจะลดลง

"การประสานงานกับโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีที่แจ้งเหตุผ่าน 1669 สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านศูนย์เอราวัณ รับข้อมูลเพื่อเตรียมส่งต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลสอบถามอาการ ประเมินเรื่องความเร่งด่วนของการเข้าช่วยเหลือ เพื่อศูนย์ฯ จะได้จัดรถพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยเข้าไปรับ ซึ่งกระบวนการขั้นต้นใช้เวลาไม่นานเพียง 1-2 นาที หลังจากนั้นจัดเตรียมทีม สั่งการรถพยาบาลเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนาม" พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์เอราวัณ กล่าว

สำหรับการเตรียมการรับผู้ป่วยโควิด-19 มีความแตกต่างจากเหตุฉุกเฉินปกติ เนื่องจากต้องมีการเตรียมทีมสำหรับสวมใส่ชุด PPE เพื่อป้องกันเชื้อโรค รวมไปถึงประสานสถานพยาบาลปลายทาง ทั้งนี้ ในกรณีกลุ่มผู้ป่วยที่โทรศัพท์เข้ามาที่ศูนย์เอราวัณ 1669 เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีแดง (วิกฤต) จะต้องเร่งดำเนินการทันที เพราะเป็นเคสผู้ป่วยที่จะรอไม่ได้ ซึ่งศูนย์ฯ จะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และในแต่ละวัน ศูนย์เอราวัณสามารถส่งต่อผู้ป่วยได้กว่า 100 รายต่อวัน

"ช่วงนี้ประชาชนเข้าใจระบบการรักษามากขึ้น ภาพรวมของการบริหารจัดการดีขึ้น ระบบ Bed Management Center ที่มี ทำให้ศูนย์ฯ สามารถทำงานคล่องตัวมากขึ้น ส่วนอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ขึ้นอยู่กับเคสที่เข้ามาเพราะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละวัน เราพยายามจัดการอย่างรอบคอบ เนื่องจากบางเคสมีความซับซ้อนของโรคอื่นร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยทางจิตเวช สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือ การทำงานแข่งกับเวลา เพราะทุกนาทีหมายถึงชีวิตผู้ป่วย" พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์เอราวัณ กล่าวเพิ่มเติม

ในด้านศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation: CI) สำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาจากบ้าน นำมาพักที่ศูนย์พักคอยฯ มีการคัดกรองอาการ และดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาด และติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข บริหารจัดการผู้ป่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย



นายยุทธนา ศรีแย้มวงษ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตตลิ่งชัน ซึ่งได้ลงตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ณ ศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์พักคอยฯ ดูแลในเรื่องของการออกหนังสือกักตัว  หรือแยกกักผู้เสี่ยงสูง   โดยรวมไปถึงอำนวยความสะดวกการตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อ
โควิด-19 แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดสู่คนในครอบครัวและชุมชน รวมไปถึงจัดเจ้าหน้าที่ร่วมอำนวยความสะดวก ทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Bangkok Comprehensive Covid-19 Response team: Bangkok CCRT) ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ในชุมชน

"กรุงเทพมหานครยังคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งสำนักอนามัย พบว่ามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในสถานที่ที่ประชาชนหนาแน่น เช่น ตลาด อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่  ยังคงเข้มงวดให้เป็นไปตามมาตรการที่กรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด  เพราะเจ้าหน้าที่เปรียบเสมือน บุคลากรด่านหน้า มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่หากไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เป็นการทำงานบูรณาการของทุกภาคส่วนภายในเขต" หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตตลิ่งชัน กล่าว



ขณะที่นางสาวรัศมีดาว ศรีหงส์ นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตตลิ่งชัน กล่าวถึงภารกิจที่ได้รับในสถานการณ์โควิด-19 เรื่องการปฏิบัติงานในศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน โดยแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ออกจากชุมชน และรับเข้าพักที่ศูนย์พักคอยฯ มีการคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน

โดยศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน  สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้จำนวน 56 เตียง  เป็นผู้ชาย 28 เตียง  และผู้หญิง 28 เตียง มีการแบ่งกั้นแยกโซนผู้ชาย และโซนผู้หญิง พร้อมมีระบบกล้อง CCTV และการสื่อสารภายในต่าง ๆ ระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรองรับผู้ป่วยที่รอเตียงหรือผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ซึ่งมาตรฐานการรักษาและดูแลผู้ป่วยนั้นได้รับการสนับสนุน และจัดระบบโดยโรงพยาบาลบางปะกอก 8 มีความพร้อมทั้งสถานที่ ระบบดูแล อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์

"ผู้ป่วยที่เข้ามานั้นจะต้องมีผลการตรวจด้วยชุด ATK หรือ RT – PCR เพื่อยืนยันกับเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางปะกอก 8 จะประเมินอาการผู้ป่วยก่อนนำเข้าสู่ศูนย์พักคอยฯ โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจรับตัวผู้ป่วย เมื่อรับเข้ามาแล้วจะมีการพูดคุย หรือมอนิเตอร์ผู้ป่วย  ผ่านอินเตอร์คอมฯ  จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ไปพักยังเตียงผู้ป่วยที่มีการจัดเตรียมไว้   และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางปะกอก 8 จะเป็นผู้ดูแลอาการผู้ป่วย โดยมีการผลัดเวรดูแลตลอด 24 ชั่วโมง"



สำหรับการปฏิบัติงานในจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ที่กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตในกลุ่มเขตกรุงธนเหนือหมุนเวียน ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศุขเวช ทำการตรวจด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) หากพบผลเป็นบวก จึงจะตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR และรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบตามแนวทางการรักษาของแพทย์ต่อไป

"ในแต่ละวันจะมีผู้เข้ารับบริการอยู่ที่ประมาณ 1,000 คน รวมไปถึงการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ในตลาดอีกด้วย สำหรับอัตราของผู้เข้าตรวจที่พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีจำนวนไม่เกิน 20% - 30% ต่อสัปดาห์ ส่วนปัญหาที่พบในจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 จะเป็นเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่มารอเข้าคิวตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้าไปอธิบายให้ทราบว่ากรุงเทพมหานครให้บริการตรวจสำหรับประชาชนชาวไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ" นางสาวรัศมีดาว ศรีหงส์ กล่าว



นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมด ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อ  โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้แล้วจำนวนมาก  ซึ่งมาจากสถานบริการด้านสาธารณสุข  เช่น  
โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก สถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐ และโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว ( Hospitel )   โรงพยาบาลสนาม  หน่วยบริการตรวจเชิงรุก  ศูนย์บริการฉีดวัคซีน  และสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่าง ๆ เช่น หอพัก อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่มาจากบ้านเรือนประชาชน ซึ่งปัจจุบันยังคงพบเห็นการทิ้งที่ไม่ถูกวิธี ทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป หรือตกหล่นริมถนนหรือในที่สาธารณะ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค จากรายงานข้อมูลขยะติดเชื้อ ณ วันที่ 30 ส.ค. 64 พบว่า ปริมาณขยะติดเชื้อของวันที่ 29 ส.ค. 64 รวม 128,130 กิโลกรัม แบ่งออกเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 69,555 กิโลกรัม และมูลฝอยติดเชื้อโควิด 58,575 กิโลกรัม

ปัจจุบันมีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยวันละ 10 ตัน กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดจุดตั้งวาง หรือทิ้งขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยกว่า 1,000 จุด เพื่อจัดเก็บและนำไปทำลายตามกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชน ในการแยกทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19



นางสาวสลิลทิพย์ ฝอยทับทิม หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยสำนักงานเขตจะให้คำแนะนำ และขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อออกจากมูลฝอยทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ออกสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดรถเก็บขนมูลฝอยเฉพาะ รวบรวมไปยังจุดพักมูลฝอยติดเชื้อของสำนักงานเขต เพื่อให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จัดเก็บและนำไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งจะใช้การเผาทำลายอย่างถูกวิธีทุกวัน

"ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอยก็มีความกังวลว่าจะติดเชื้อ ในฐานะหัวหน้างาน ก็ไม่อยากให้ผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อ อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ในการรับผิดชอบส่วนนี้ จำนวนน้อย ดังนั้นเราจึงมีมาตรการให้แต่ละบุคคลสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทำการจัดเก็บขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ ดำเนินการจัดเก็บที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation: CI) ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน โดยเข้าจัดเก็บตามปริมาณขยะ"

หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตตลิ่งชัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พนักงานเก็บขยะยังคงพบ ขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยปะปนมากับขยะมูลฝอยทั่วไป ทำให้พนักงานเก็บขยะทุกคน ต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการ และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เสมือนเป็นการเก็บขยะติดเชื้อในทุกกรณี  จึงขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี   เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19   รวมถึงเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน  และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอย โดยขอให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า "หน้ากากอนามัยใช้แล้ว" และแยกทิ้งกับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด ประกอบด้วยสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้าและดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่อื่น ๆ เช่น ตลาด วัด ชุมชน หน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน เคหะชุมชนต่าง ๆ อื่น ๆ



นายเกรียงศักดิ์ แตงมาก ตำแหน่งพนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดเบา ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตตลิ่งชัน กล่าวว่า เป็นพนักงานประจำปฏิบัติหน้าที่มาแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละวัน จะทำงานปกติจนเสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงดำเนินการเก็บขยะติดเชื้อในศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน

"สำหรับขยะทั่วไปจะจัดเก็บในลักษณะเดียวกับขยะตามบ้านเรือน หากบ้านไหนมีขยะติดเชื้อจะดำเนินการเก็บอีกครั้งในช่วงเย็น เพราะต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นชุด PPE และถุงมือสำหรับจัดเก็บ เพื่อเลี่ยงการสัมผัสขยะติดเชื้อโดยตรง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อออกจากมูลฝอยทั่วไป โดยขอให้แยกใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่น เขียนติดหน้าถุงให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นขยะติดเชื้อรวบรวมและแยกไว้ภายในบริเวณที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ออกสู่สิ่งแวดล้อม" นายเกรียงศักดิ์ แตงมาก กล่าว





ต้องยอมรับว่า นี่คือตัวอย่างความร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากรกรุงเทพมหานครอย่างเต็มกำลัง ซึ่งยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือ ร่วมเป็นพลังในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด