• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

ส่องบทเรียน “แซนด์บ็อกซ์” พลาดเป้า! ก่อนเปิดเมือง 5 จังหวัด

Started by Chanapot, September 28, 2021, 07:51:08 AM

Previous topic - Next topic

Chanapot



กำลังจะครบ 3 เดือนของการนำร่อง "เปิดประเทศ" เพื่อการท่องเที่ยว!! ประเดิมด้วยโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" คิกออฟไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564

โดยโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ใช้โมเดลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมาเที่ยวแบบไม่กักตัว และต้องอยู่ภายในพื้นที่ที่กำหนด (Sealed Area) จ.ภูเก็ต อย่างน้อย 14 วัน จึงจะเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นในไทยได้

ต่อด้วยโครงการ "สมุย พลัส โมเดล" รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมาเที่ยวพื้นที่ 3 เกาะดังของ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในเส้นทางที่กำหนด (Sealed Routes) เริ่มเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564

โดยโมเดลของ สมุย พลัส โมเดล นั้นแตกต่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะใช้สูตร "0+3+4+7" กล่าวคือ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงสมุยวันที่ 0 จะต้องรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 1 และรอผลตรวจภายในห้องพักโรงแรมเท่านั้น จากนั้นวันที่ 1-3 หลังทราบผลตรวจเป็นลบ สามารถออกนอกห้องพักได้ แต่ยังต้องอยู่ในบริเวณโรงแรม และใช้บริการในบริเวณหรือพื้นที่ที่โรงแรมจัดสรรไว้ (Area Quarantine) ส่วนวันที่ 4-7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ใน อ.เกาะสมุย ตามเส้นทางและโปรแกรมท่องเที่ยวที่กำหนดไว้ (Sealed Route) ทั้งนี้จะทำการตรวจหาเชื้อโควิดครั้งที่ 2 ณ โรงแรมที่พักในวันที่ 6-7 โดยในช่วง 7 วันแรกจะต้องเข้าพักโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (ALQ) เท่านั้น

ส่วนตั้งแต่วันที่ 8-14 สามารถท่องเที่ยวได้อย่างเสรีภายใน 3 เกาะ ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า หลังทราบผลการตรวจครั้งที่ 2 เป็นลบ แต่ต้องพักโรงแรมที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย "SHA Plus" บน 3 เกาะดังกล่าว และจะทำการตรวจหาเชื้อโควิดครั้งที่ 3 ในวันที่ 12-13 เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขตรวจหาเชื้อครบ 3 ครั้ง และนักท่องเที่ยวพำนักในพื้นที่อย่างน้อย 14 คืน ก่อนออกเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นในไทย

ตามมาด้วยโครงการ "7+7 ภูเก็ต เอ็กซ์เทนชั่น" (7+7 Phuket Extension) เที่ยวเชื่อมโยงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ครบ 7 วันแรก สามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่พื้นที่นำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า), จ.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) และ จ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) เริ่มเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 เพื่อรองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งนิยมเที่ยวข้ามเกาะ (Island Hopping) และเพิ่มตัวเลือก

ถือเป็น "จุดเริ่มต้นที่ดี" ในการแง้มประตูเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เมื่อดูความสำเร็จเชิงปริมาณ ต้องยอมรับว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายที่ทั้ง "กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา" กับ "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" (ททท.) และภาคเอกชนท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ตั้งเป้าไว้!

เพราะเดิมโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" กระทรวงการท่องเที่ยวฯและ ททท.ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางมาเยือนรวม 1 แสนคนในช่วงไตรมาส 3 หรือตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ แต่จากสถานการณ์ล่าสุดหลังเปิดโครงการฯมาเกือบ 3 เดือน พบว่าจากสถิติ ณ วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมกว่า 3.7 หมื่นคน ยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่วางไว้!

ส่วนโครงการ "สมุย พลัส โมเดล" จำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 2 เดือนกว่า พบว่าจากสถิติ ณ วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา มียอดเดินทางเข้ามาไม่ถึง 900 คน ห่างจากเป้าหมายที่สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุยตั้งไว้ 1,000 คนต่อเดือน จึงเป็นที่มาของการเตรียมเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาให้เริ่มใช้โมเดลใหม่ "สมุย พลัส แซนด์บ็อกซ์" เหมือนกับโมเดลของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางภายในพื้นที่ที่กำหนดได้แบบไม่ต้องกักตัว หวังเริ่มใช้โมเดลใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป

 

เมื่อยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าโครงการนำร่องเปิดประเทศพลาดเป้า!!! "กรุงเทพธุรกิจ" จึงรวบรวมและประมวลความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยว เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคไว้ดังนี้

 

การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ
การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย.2564 ปะทุขึ้นเป็นวงกว้างและรุนแรง จนยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งสูง และเคยพีคทะลุ 2 หมื่นคนต่อวันมาแล้ว ส่งผลกระทบต่อตลาดความหวังอย่างอย่าง "สหรัฐ" ซึ่งเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มากเป็นอันดับ 1 จากสถิติช่วง 2 เดือนแรกของการเปิดโครงการฯ ทางหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ หรือ ซีดีซี ได้ประกาศเมื่อ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ยกระดับคำเตือนให้ชาวสหรัฐหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด (Level 4) ต่อการระบาดของโควิด-19

ด้านตลาด "สหราชอาณาจักร" ซึ่งเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มากเป็นอันดับ 2 นั้น ทางรัฐบาลได้ประกาศปรับสถานะให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสีแดง (Red List) เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย เมื่อกลับเข้าสหราชอาณาจักรจะต้องถูกกักตัวในโรงแรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นเวลา 10 วัน และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง 2,230 ปอนด์ หรือประมาณ 1 แสนบาท

ขณะที่แผนการเปิดเมือง "บุรีรัมย์" จำเป็นต้องเลื่อนไทม์ไลน์การเปิดเมืองภายในปี 2564 ออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยที่พบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด กระทบต่อการจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก "โมโตจีพี" ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดการแข่งขัน ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ใน จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 15-17 ต.ค.นี้ มีผลให้ต้องยกเลิกการจัดงานฯในปีนี้

แม้ว่าปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันในไทยจะลดลงเหลือที่ระดับ 1 หมื่นคนต้นๆ ต่อวัน แต่ก็ยังน่ากังวล จนกว่าทิศทางของกราฟจะเปลี่ยนเป็นหัวทิ่ม ลดลงสู่ระดับหลักพันคนหรือหลักร้อยต่อวัน เมื่อนั้นประเทศต้นทางเป้าหมายน่าจะปลดล็อกข้อจำกัดและคำเตือนสำหรับการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

การเร่งกดยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กล้ากลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 นี้ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ "ไฮซีซั่น" ซึ่งเป็นความหวังของผู้ประกอบการว่าจะเริ่มมีรายได้จากตลาดต่างประเทศบ้าง ไม่ใช่พึ่งพิงแค่น้ำบ่อใกล้อย่างตลาดในประเทศเพียงบ่อเดียว

 

การกระจายวัคซีนล่าช้า
การระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักของการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะต้องฉีดแก่ประชากรในพื้นที่ให้ได้อย่างน้อย 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เน้นความปลอดภัยของคนในประเทศเป็นสำคัญ

แต่เมื่อหลายๆ จังหวัดยังไม่ได้รับวัคซีนถึงเกณฑ์ กระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดเมืองในพื้นที่เป้าหมาย!

โดยจากข้อมูลเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ "เปิดประเทศภายใน 120 วัน" เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทาง ททท.ได้ปรับไทม์ไลน์ตั้งเป้าเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) จ.ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัต.บ) จ.บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ สนามช้างอารีนา) ซึ่งเดิมวางกำหนดเปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป ส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) และกรุงเทพฯ เดิมวางกำหนดเปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป

จากนั้นก็มีการปรับเลื่อนไทม์ไลน์เปิดเมืองอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลการกระจายวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ล่าสุดวันนี้ (27 ก.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ "ศบค." ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะพิจารณาไทม์ไลน์ "การเปิดเมือง" รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วแบบไม่ต้องกักตัว เพิ่มอีก 5 จังหวัด เริ่มวันที่ 1 พ.ย.2564 ซึ่งเลื่อนจากแผนเดิมวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยรายชื่อ 5 จังหวัดที่ ศบค.ชุดใหญ่ จะพิจารณานั้น ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัต.บ) เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ)

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ศปก.ศบค. เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เหตุผลที่ต้องเสนอให้พิจารณาการเปิดเมือง 5 จังหวัด เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 พ.ย.2564 แบบพร้อมกันทีเดียว คือเพื่อรอให้ประชากรในพื้นที่นำร่องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 70% ของประชากรในพื้นที่ตามเกณฑ์สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการเตรียมความพร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ร้อนไปถึงตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยวหัวหิน!! เมื่อนายกรด โรจนเสถียร คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมสปาไทย กล่าวในฐานะประธานภาคเอกชนของโครงการ "หัวหิน รีชาร์จ" กล่าวว่า "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับข้อเสนอการเลื่อนเปิดโครงการหัวหิน รีชาร์จ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วแบบไม่กักตัว ไปเปิดวันที่ 1 พ.ย.2564 พร้อมกับเมืองอื่นๆ  เพราะหัวหินมีความพร้อมฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ประชากรถึง 71.2% ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ โดยทางสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เห็นว่าควรเว้นระยะเวลา 2 สัปดาห์ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็สามารถเปิดหัวหินได้ในวันที่ 15 ต.ค.นี้

 

 

ต่างเมือง ต่าง SOP
"คู่มือแนวทางปฏิบัติ" (Standard Operating Procedure : SOP) คือหัวใจสำคัญของการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยุคนิวนอร์มอล

แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาทิ ที่ตั้งของเมืองท่องเที่ยว หากเป็นเกาะ เช่น ภูเก็ต สามารถควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่และดูแลได้ง่ายกว่าพื้นที่บนบก, ความพร้อมของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน จึงใช้ SOP ต่างกัน ภูเก็ตใช้มาตรการอย่างหนึ่ง สมุยใช้มาตรการอีกอย่าง มีเงื่อนไขรายละเอียดปลีกย่อยที่ซับซ้อน และสร้างความสับสนให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

การปรับมาใช้ SOP เหมือนกันทุกพื้นที่ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดความสับสนและยุ่งยาก ช่วยดึงชาวต่างชาติมาเที่ยวไทยได้มากขึ้น

 

 

ค่าตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แพงเกินไป?!
การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่นักท่องเที่ยวมาไทยต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทางแล้วก็ตาม แต่เมื่อเดินทางเข้าร่วมโครงการพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (แซนด์บ็อกซ์) ของประเทศไทย จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันแรกที่เดินทางมาถึง (ที่สนามบินก่อนเข้าโรงแรมที่พัก หรือ ตรวจที่โรงแรมที่พัก ขึ้นกับ SOP ของแต่ละเมือง)

หากนักท่องเที่ยวต้องการอยู่ในไทยเกิน 14 วัน จะต้องรับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง เหตุผลก็เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ และไม่ให้เป็นที่ครหาว่าการนำเข้านักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสาเหตุของการระบาดในประเทศ ทว่ากลับมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง! จนนักท่องเที่ยวอดสงสัยและเปรียบเทียบไม่ได้ เช่น กรณีของนักท่องเที่ยวจากตลาดตะวันออกกลาง กังขากรณีค่าตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในไทย เมื่อเทียบกับการตรวจในประเทศนั้นอยู่ที่ครั้งละ 100-200 บาท หรือบางครั้งตรวจฟรี

ภาคเอกชนท่องเที่ยวหลายรายจึงเสนอให้มีการปรับลดค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 เช่น หากภาครัฐยังต้องการให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 3 ครั้ง สามารถปรับมาเป็นการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เหลือแค่ 1 ครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จากนั้นการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 (วันที่ 6-7) และครั้งที่ 3 (วันที่ 13-14) ให้เปลี่ยนมาตรวจด้วย ATK Test แทนได้หรือไม่ เพื่อช่วย "ลดค่าใช้จ่าย" ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และควรกำหนดให้เป็นมาตรฐาน "ราคาเดียวกัน" ทั่วประเทศ

 

การขอ COE เข้าไทยช่างเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน!
นักท่องเที่ยวหลายตลาดต่างรู้สึกว่าการยื่นขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry: COE) ช่างเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งนัก ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากถอดใจ ยังไม่ตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวพื้นที่นำร่องในประเทศไทย

ภาครัฐอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนระบบการขอ COE ให้สะดวกแก่นักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มซึ่งมีพฤติกรรมการจองแตกต่างกันไป ไม่จำกัดแค่การจองโรงแรมที่พักผ่านระบบ SHABA (SHA Plus Booking Authentication System) เพียงช่องทางเดียว แต่สามารถให้บริษัทนำเที่ยวเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยทำการจองโรงแรมที่พักได้ด้วย

 

ลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน
ภาคเอกชนต่างเสนอความคิดเห็นขอให้ภาครัฐพิจารณา "ลดวันกักตัว" จาก 14 วัน เหลือ 7 วัน หรือ 10 วัน เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยความหวังที่ว่าเมื่อมีการลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน นักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถอยู่ในพื้นที่นำร่องจำนวนน้อยวันลง เหลือ 7 วัน เมื่ออยู่ครบตามกำหนดก็สามารถไปเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้อย่างอิสระ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2564 ได้มีมติเห็นชอบปรับมาตรการผู้เดินทางมาในราชอาณาจักร หรือลดวันกักตัวจากเดิมที่กำหนด 14 วัน รวมถึงตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เหลือ 7 วัน, 10 วัน และ 14 วัน ตามกรณีดังนี้

1. ลดเหลือ 7 วัน สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย และเมื่อมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจหาเชื้ออีก 2 ครั้งในวันที่ 0 และวันที่ออกจากสถานที่กักกัน ทกช่องทางเข้าออกประเทศ

2. ลดเหลือ 10 วัน ในผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนครบโดส เมื่อถึงไทยต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR  2 ครั้ง ในวันที่ 0-1 และวันที่ออกจากสถานที่กักกัน ในส่วนของการเดินทางอากาศ

3. กักตัวอย่างน้อย 14 วัน ในผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกที่มาถึงประเทศไทย และวันที่ 12-13 สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าทางบก เนื่องจากไม่มีการตรวจหาเชื้อมาก่อนและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ

โดยข้อเสนอแนวทางลดวันกักตัวเหล่านี้ จะเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณาต่อไป

 

ทั้งหมดนี้คือ "บทเรียน" ในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังมีเวลาเตรียมความพร้อมและแก้ไขอุปสรรค รองรับการเปิดเมืองเพิ่มอีก 5 จังหวัดรวม "กรุงเทพฯ" ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้