• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

ฟื้นเศรษฐกิจด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อม (Green Stimulus) ทางรอดของโลกยุคหลังโควิด-19

Started by Beer625, August 23, 2021, 01:33:04 PM

Previous topic - Next topic

Beer625



เชื่อว่าภารกิจสำคัญของรัฐบาลหลายๆ ชาติ นอกจากจะควบคุมโรคระบาดจากเชื้อโควิด-19 ให้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยเร็วที่สุดแล้ว คงเป็นเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มตัว แต่แนวทางการพัฒนาของโลกยุคหลังโควิด-19 ไม่ควรย้อนรอยกลับไปสร้างความผิดพลาดแบบเดิมๆ ที่สร้างความหายนะทั้งทางสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างแสนสาหัส

บทเรียนการพัฒนาที่มุ่งทำลายต้นทุนธรรมชาติและระบบนิเวศพิสูจน์แล้วว่าเปราะบางและพร้อมจะพังทลายลงได้ในบัดดลเมื่อพบกับเภทภัยระดับโลกเช่นนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อม (Green Stimulus) เป็นแนวทางที่นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมหลายสำนักนำเสนอเพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าโรคระบาดครั้งนี้หลายเท่า



ย้อนกลับไปยังต้นตอของวิกฤตโรคระบาดระดับโลกครั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมและป้องกันโรคของจีนออกมายอมรับว่าเป็นไปได้อย่างมากที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV หรือ COVID-19 มีต้นกำเนิดมาจากตลาดค้าขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายในเมืองอู่ฮั่น ที่มีประชากรราว 11 ล้านคน จนทำให้จีนต้องออกมาประกาศปิดตลาดค้าสัตว์ป่าทั่วประเทศชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม อีกหนึ่งเดือนถัดมาคณะกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งชาติของจีนมีมติให้การรับรองคำสั่งห้ามบริโภคสัตว์ป่าอย่างเด็ดขาด รวมทั้งประกาศจะปราบปรามตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วประเทศ เพื่อให้ความปลอดภัยด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน และความมั่นคงทางด้านนิเวศวิทยา

หลายคนยังกังขาว่ารัฐบาลจีนจะเอาจริงแค่ไหนเพราะตอนที่เกิดเหตุโรคซาร์สระบาดเมื่อ ค.ศ.2003 ก็เคยมีนโยบายที่คล้ายคลึงกันออกมาเช่นกัน แต่เมื่อโรคระบาดหายไปไม่นาน ตลาดค้าสัตว์ป่าก็กลับมาค้าขายกันเหมือนเดิม และขยายตัวยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและช่องทางค้าขายออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น

ปัญหาการค้าสัตว์ป่าเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวของการใช้ประโยชน์ธรรมชาติอย่างล้างผลาญที่ส่งผลโดยตรงต่อการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต หากลองสำรวจวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาก็จะพบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนกำลังรุมเร้าและท้าทายการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์มากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางอากาศ สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันพิษ มลภาวะจากขยะพลาสติก อุณหภูมิที่สูงผิดปกติและภาวะเป็นกรดของมหาสมุทร ไปจนถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการละลายของน้ำแข็งแถบขั้วโลก

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นจึงเป็นวิกฤตที่คู่ขนานไปกับภาวะฉุกเฉินทางด้านนิเวศวิทยาและสภาพภูมิอากาศ และความไม่เท่าเทียมอย่างสุดขั้ว ภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและโรคระบาดเป็นปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำให้เห็นว่าเราควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่แน่นอนถ้าไม่หันมาฟังคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง และไม่กลับไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา ทั้งระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแบบเอาแต่ได้ และการเมืองที่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์
สิ่งที่จะทำให้เรารอดไปด้วยกันจึงไม่ใช่แค่เงินชดเชยรายได้ (ที่จำเป็นมากๆ สำหรับผู้มีรายได้น้อย) และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อหวนกลับไปสร้างความมั่งคั่งให้กับคนกลุ่มน้อยที่อยู่บนสุดของพีรามิดเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รัฐบาลควรใช้วิกฤตครั้งนี้ทบทวนแผนการลงทุนขนาดใหญ่ หันมาให้น้ำหนักกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่ส่งเสริมการรักษาต้นทุนธรรมชาติและกำหนดทิศทางใหม่ในการพัฒนาเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหม่ในอนาคต
นักวิชาการได้นิยามการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อม (Green Stimulus) ว่ามีลักษณะสำคัญ 4 อย่างคือ 1) ทำให้เกิดการจ้างงานอย่างรวดเร็ว 2) เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 3) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน และ 4) เกิดผลด้านบวกต่อระบบนิเวศ หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ แน่นอนว่าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกนำมาใช้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินเท่านั้น

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาได้มีการนำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้านของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีมูลค่ารวมถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สอดคล้องกับข้อเสนอ Green New Deal โดยเนื้อหาใจความหลักสามารถนำมาปรับใช้กับบ้านเราได้เช่นกันคือ
การสร้างงานใหม่ๆ ในระดับชุมชนที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การขยายกำลังผลิตของภาคพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงอาคารและสิ่งก่อสร้างเพื่อลดการใช้พลังงาน การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรในระดับท้องถิ่น การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (เช่น สวนสาธารณะป้องกันน้ำท่วม ทางเชื่อมระหว่างผืนป่าให้สัตว์ข้ามไปมา) ปรับหลักสูตรในระดับอาชีวะและอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว

การลงทุนอย่างชาญฉลาดสำหรับโลกในอนาคต เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา การเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถไฟฟ้า การพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในชนบท การเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ รวมไปถึงการสร้างความหลากหลายในการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในอดีต และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักในอนาคตจากสภาวะโลกร้อน (เช่น ชุมชนชายฝั่ง) ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลัก พัฒนาการท่องเที่ยวที่ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและมีกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกับชุมชน

การเพิ่มสิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการสาธารณะ เช่น ยกระดับความรับผิดชอบขององค์การสาธารณะในภาวะวิกฤต อาทิ ขนส่งมวลชน การเคหะ การไฟฟ้า การประปา อุตสาหกรรมพลังงาน สายการบิน โรงเรียน โดยยึดโยงกับประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสที่พยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการพัฒนาแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับชุมชนและภูมิภาคซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสม
ภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้งสี่ รัฐบาลสามารถแตกย่อยแผนพัฒนาที่เป็นรูปธรรมให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละภูมิภาคได้ แน่นอนว่าแผนดังกล่าวต้องอาศัยวิสัยทัศน์และการลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากการอัดฉีดเงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การจัดสรรงบประมาณลงไปในจุดที่จะเป็นการสร้างภูมิต้านทานภัยพิบัติในอนาคตก็ต้องถือเป็นการลงทุนที่เหมาะสม เราได้เป็นจักษุพยานของโลกที่ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วน (disruption) และเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ระบบที่ยืดหยุ่นมีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการปรับตัวสูงจึงกลายเป็นคุณสมบัติสำคัญของสังคมที่จะอยู่รอดต่อไปได้ในอนาคต

วิกฤตโควิด-19 ยังเป็นบทเรียนสำคัญถึงความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างที่เกรตา ธันเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศสะท้อนไว้อย่างน่าฟังว่า "ถ้าไวรัสแค่หนึ่งสายพันธุ์สามารถล้มระบบเศรษฐกิจของทั้งโลกได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ นั่นเป็นบทพิสูจน์ว่าสังคมเราแทบไม่มีภูมิต้านทานเลย แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า ในภาวะฉุกเฉินเราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันได้เร็วขนาดไหน" หากมองในมุมนี้ก็ทำให้พอมีความหวังว่าถ้าโลกตระหนักถึงความจำเป็นของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังเพื่อความอยู่รอดและเพื่อรักษาชีวิต เราพิสูจน์แล้วว่าทำได้และจะได้เห็นโลกทั้งโลกร่วมมือกันอย่างรวดเร็วในยามที่เกิดวิกฤตร้ายแรง

ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องหาทางแก้ร่วมกัน แต่การแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเดิม ย่อมทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำมากมาย สุดท้ายกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่รู้จบและยิ่งส่งผลร้ายกว่าเดิมในระยะยาว นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจึงพยายามเสนอการแก้ปัญหาแบบใหม่ที่ย้อนกลับไปหาธรรมชาติ เรียนรู้การทำงานของระบบนิเวศที่สมดุล สมบูรณ์ ลงตัว ยกตัวอย่างง่ายๆ ในกระบวนการผลิตตามธรรมชาติมีประสิทธิภาพขนาดที่ไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้งเกิดขึ้นเลย หรือนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ที่หันกลับไปลอกเลียนหลักการทำงานสุดเจ๋งของธรรมชาติในศาสตร์ชีวลอกเลียน (biomimicry)

หากนำเอาการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูธรรมชาติมาเป็นหัวใจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาสุขภาพและสุขภาวะของคนในชาติน่าจะหมายถึงการเพิ่มพื้นสวนสาธารณะ เพิ่มจำนวนต้นไม้ใหญ่และพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติให้คนในเมืองได้มีโอกาสใช้ชีวิตกลางแจ้ง สร้างภูมิคุ้มกันด้วยแลกเปลี่ยนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต การปฏิรูปการศึกษาน่าจะหมายถึงการพัฒนาหลักสูตรเนื้อหาที่สอดคล้องกับนิเวศวิทยาท้องถิ่นและกระตุ้นให้เกิดความรักในการเรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว การสร้างความมั่นคงทางอาหารน่าจะหมายถึงการฟื้นฟูทะเล ฟื้นฟูป่า แหล่งผลิตอาหารที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในโลก และส่งเสริมการเพาะปลูก การเพาะเลี้ยงสัตว์ การบริโภคอย่างยั่งยืนในทุกๆ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนกว่าครึ่งโลก

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ตอกย้ำความจริงที่ว่า "เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง" เศรษฐกิจจะยั่งยืนต้องมาจากฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และเมื่อมนุษย์ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งพบความจริงว่าทางออกของปัญหาต่างๆ ของสังคมนั้นมีอยู่แล้วในธรรมชาติ เราเพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและเข้าใจว่า งานอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มน้อยที่พยายามไล่คนให้กลับไปอยู่ถ้ำ แต่คือการอนุรักษ์ต้นทุนธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐศาสตร์ให้สอดคล้องกับขีดจำกัดของระบบนิเวศ การอนุรักษ์คือการพัฒนาอย่างชาญฉลาด อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

หากแยกย่อยเมนูสำหรับการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียว เราอาจจัดกลุ่มแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามหมวดหมู่ต่างๆ ได้ดังนี้

1. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนประหยัดพลังงาน เช่น ตั้งเป้าอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่จะต้องปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายใน 10 ปี

2. การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีสูง เช่น ตั้งเป้าระบบขนส่งสาธารณะที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายใน 10 ปี

3. การปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ สร้างของเหลือให้น้อยที่สุด มีระบบสวัสดิการที่เป็นธรรมกับพนักงานและลูกจ้าง เช่น ตั้งเป้ามีระบบการจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพร้อยละ 80 ภายใน 10 ปี

4. การพัฒนาระบบพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน และการประหยัดพลังงาน เช่น ตั้งเป้าหมายระบบพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี

5. การสร้างระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ตั้งเป้าสัดส่วนการผลิตภาคเกษตรอินทรีย์อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี

6. การจัดการที่ดินและพื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ระบบนิเวศดั้งเดิม พัฒนาเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองระดับภูมิภาคและประเทศ ขยายพื้นที่สวนสาธารณะในเมือง และส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับครัวเรือน (เช่น ป่าครอบครัว) เช่น ตั้งเป้าพื้นที่คุ้มครองทางบกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และพื้นที่คุ้มครองทางทะเลไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายใน 10 ปี

7. การเงิน การธนาคารและกระบวนการจัดซื้อเพื่อความยั่งยืน เป็นแนวคิดที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ของธุรกิจและสังคมในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนในระยะสั้น โดยดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี นำหลักการวิเคราะห์วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (product life cycle) มาใช้พิจารณาในกระบวนจัดซื้อ

8. เป็นแนวร่วมสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างเข้มแข็ง ด้วยการปฏิบัติตามพันธกิจของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ อนุสัญญาไซเตสว่าด้วยการค้าชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน อนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่น

บทความโดย ดร.เพชร มโนปวิตร

ข้อมูลอ้างอิง https:// www.the101.world/green-stimulus/


นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่ง ทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อม ๆ กับเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหา